หลายคนได้ยินกันหนาหูถึงเรื่อง "ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์" และบางส่วนก็เข้าใจไปว่า ซอฟต์แวร์มีแบบเถื่อน แบบฟรี และแบบแท้ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เข้าใจว่า ซื้อคอมมาแล้วไปหาซื้อแผ่นอะไรก็ได้ที่ร้านค้ามีจำหน่าย แล้วนำมาติดตั้งจนผ่านสำเร็จ นั่นก็ถือว่าซื้อมาถูกต้องแล้ว
แต่ทำไมยังโดนตรวจ แล้วพอให้มาตรวจแล้วกลับบอกว่าของที่มีในองค์กรเป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้?
ในส่วนนี้ เราควรเรียนรู้เกี่ยวกับคำนิยามกันก่อนนะครับ ซื้องในเรื่องที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์และไอทีนั้นมี พรบ. ที่เราควรเข้าใจกันอยู่โดยหลักแล้ว 2 ฉบับด้วยกันคือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (รวมทั้งฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2558) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
ในบทความนี้มุ่งสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการถือครองวอฟต์แวร์เป็นสำคัญจึงขออ้างอิงในส่วนของซอฟต์แวร์ในฐานะทรัพย์สินก่อน (Software as an Asset) แล้วกันนะครับ
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แล้วมีประเด็นที่เราควรทำความเข้าใจก่อนจะพูดถึง "ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์" ตามที่เข้าใจกันก่อน อันได้แก่เรื่องต่อไปนี้
ซอฟต์แวร์ ถ้าเรียกตามกฎหมายแล้วก็คือ "โปรแกรมคอมพิวเตอร์" เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คอมพิเตอร์ทำงานได้ (เช่น ใส่ Windows ลงบนเครื่องแล้วเครื่องสามารถตอบสนองได้ หรือ ใส่ Office ลงเครื่องแล้ว เครื่องสามารถประมวลผลการพิมพ์ให้เราได้)
ส่วนคำว่า "ลิขสิทธิ์" นั้นคือสิทธิแต่ผู้เดียว ซึ่งคือสิทธิขาดที่อยู่กับตัวของผู้สร้างสรรค์ไม่สามารถขายทอดตลาดในรูปแบบแผ่นซีดีได้ เว้นแต่จะทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์กันไปตามกำหมายก็ว่ากันไป ถ้าเปรียบเทียบชัดๆ กรณีซอฟต์แวร์ Microsoft แล้ว ผู้สร้างสรรค์ก็คือ Microsoft และก็มี Microsoft เจ้าเดียวที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ครับ เวลาเราซื้อซอฟต์แวร์จาก Microsoft เราไม่ได้ซื้อ "ลิขสิทธิ์" และเราก็ไม่ได้ซื้อ "แผ่นโปรแกรม" และเราก็ไม่ได้ซื้อ "Product Key" ด้วยเช่นกัน แต่เราซื้อ agreement หรือพันธะสํญญาในรูปแบบของ "สิทธิ" ที่ Microsoft มอบให้ มากน้อยก็ตามแต่ราคา (ที่กำหนดโดย edition นั่นล่ะครับ) ที่ซื้อมา
ดังนั้น กรณี FFP ถ้ากล่องหาย หรือ key ที่มากับกล่องหายไป แต่คุณเก็บใบเสร็จไว้ คุณก็ขอ key ใหม่จาก Microsoft ได้หากจะถอดการติดตั้งแล้วเอาไปลงเครื่องใหม่ เพราะ Microsoft ได้ขายสิทธิในการเข้าใช้งานซอฟต์แวร์นั้นแล้วแก่คุณครับ
คำว่า "ข้อมูลการบริหารสิทธิ" ก็เช่นกัน คือสิ่งที่ Microsoft ใช้เป็นตัวแทนในการสำแดงว่านี่คือสิทธิที่ผู้สร้างสรรค์ใช้อำนาจตามลิขสิทธิ์ที่มีมามอบให้แก่ลูกค้าที่ซื้อไป โดยใช้ตัวเลขเป็นการกำหนดสิทธิ (เช่น product key หรือ username/password) นั่นเองครับ
สรุปง่ายๆ ในตอนนี้ ก็คือ Microsoft เป็นเจ้าของผู้มีลิขสิทธิ์ (หรือ Copyright) และจำหน่ายสิทธิ (การใช้งาน) หรือ License ให้แก่ลูกค้านั่นเองครับ โดย License นั้นอาจถูกกำกับไว้โดยตัวเลข หรือ agreement อันนี้ก็แล้วแต่ความซับซ้อนในการบริหารจัดการตามจำนวน PC base ในองค์กรลูกค้าเอง
ในส่วนของบริการ Cloud Services เองไม่ได้ถูกมองว่าเป็นทรัพย์สิน แต่เป็น "บริการ" ที่ลูกค้าซื้อมาจากผู้สร้างสรรค์เองโดยตรงหรือผ่านตัวแทนจำหน่าย เช่น กรณีของ Microsoft 365 นั้น ก็จะเป็นว่า Microsoft ขายสิทธิ Office ให้ลูกค้าใช้แบบติดตั้งลงเครื่องอยู่แล้ว แต่ก็มีระดับราคาราคาหนึ่งถูกแพงก็แล้วแต่ edition แต่ถ้าลูกค้าไม่อยากลงทุนลงไปครั้งเดียวแล้วก็ไมม่อยากดูแลจัดการตลอดชีพของซอฟต์แวร์นั้น ผู้สร้างสรรค์ซึ่งก็คือ Microsoft เองก็นำ Office นั้นโยนขึ้นเซิร์ฟเวอร์แล้วให้บริการในรูปแบบ Cloud ที่ผ่านอินเทอร์เน็ต และคิดค่าบริการกับผู้ใช้เป็นรายเดือนและรายปี หากลูกค้าไม่จ่ายเงิน ระบบก็ตัิดสิทธิในการใช้ในรอบบิลถัดไปออก ซึ่งกรณีแบบนี้เรียกว่าเป็นค่าใช้จ่ายเหมือนค่าน้ำค่าไฟในสำนักงาน จัดว่าเป็น OPEX ในการดำเนินงาน (ต่างจากซอฟต์แวร์ที่เป็นทรัพย์สินเหมือนเฟอร์นิเจอร์ในสำนักงาน และจัดเป็นค่าใช้จ่ายแบบ CAPEX)
ทีนี้ในประเด็นของการละเมิดนั้น แน่นอนว่าหากซื้อสิทธิการใช้ซอฟต์แวร์มาแบบไม่ถูกต้อง เช่น ร้านค้าจำหน่ายแผ่นเถื่อนพร้อม crack code ที่ลงซ้ำได้หลายๆ เครื่อง นั่นคือการละเมิดในรูปแบบของ “การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี” หมายความว่า การกระทําด้วยประการใด ๆ ที่ทําให้มาตรการทางเทคโนโลยีไม่เกิดผล เพราะมาตรการทางเทคโนโลยีที่พูดถึงคือ สิทธิแบบ OEM เองต้องลงแบบต่อเครื่องเท่านั้น ลงซ้ำไม่ได้ครับ
หรืออย่างในกรณีของ Cloud Service เองการถือครองไม่ใช่ทรัพย์สินก็จริงแต่ผู้สร้างสรรค์จำหน่ายสิทธิในรูปแบบเช่าใช้ (Subscription License) การเข้าถึงทั้งหมด จะละเมิดหรือลักลอบโกงก็ไม่น่าจะทำได้ เพราะมาตรการทางเทคโนโลยีถูกกำหนดโดยผู้สร้างสรรค์ทั้งหมด (หรือก็คือเซิร์ฟเวอร์ของ Microsoft ที่ใช้ให้บริการ Microsoft 365 นั่นล่ะครับ)
แต่อย่าลืมว่าก็ยังมีเงื่อนไขบางอย่างที่อาจเข้าข่ายละเมิดได้ เช่น Microsoft 365 Apps for business หรือ Microsoft 365 Business Standard ที่มอบสิทธิให้ user โหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Office ลงไปติดตั้งบนเครื่อง PC ได้ 5 เครื่อง หลายท่านก็คงตั้งคำถามว่าถ้าองค์กรมี 50 เครื่อง PC จะซื้อ 10 user ได้หรือไม่? โดยเงื่อนไขแล้วต้องบอกว่าไม่ได้และสามารถเข้าข่ายละเมิดสิทธิได้ หาก ใน 50 เครื่องนั้น มีบางเครื่องที่เป็น PC ส่วนตัวของพนักงาน แต่หากทั้ง 50 เครื่องเป็นเครื่องที่ถือครองโดยองค์กรเดียวกันแล้วก็ยังไม่เข้าข่ายละเมิด
แต่ทีนี้ก็ต้องมาดูว่าซื้อไว้ 10 user นั้นตัว user เป็นพนักงานหรือไม่ และได้แชร์เครื่องกับใครหรือเปล่า เพราะสิทธิเช่าใช้เหล่นานั้นอ้างอิงตาม user เท่านั้น ก็ต้องมองในแง่ของ 1 user ต่อเครื่องย่อย 5 เครื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ user นั้น แล้วอีกอย่าง 5 เครื่องนั้นแชร์ OneDrive เดียวกันนะครับ หากใช้วิธีแยกเครื่องลง การอัพโหลดขึ้น OneDrive ก็จะขึ้นไปรวมกันเละเทะไปหมด ประเด็นนี้ต้องพึงระวังไว้ด้วย
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ก็เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงคำนิยามต่างๆ ต่ไปนี้ก่อนจะเริ่มเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับสิทธิการใช้งานซอฟต์แวร์นะครับ ลองศึกษาและทบทวนคำเหล่านี้ดูหลังอ่านจบแล้วด้วยนะครับ